การเขียนเรียงความเป็นความรู้-ความฉลาดด้านภาษา
การเขียนเรียงความเป็นความรู้-ความฉลาดด้านภาษา นำมาซึ่งพหุปัญญาที่หลากหลาย
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้ว สำหรับการประกวดเรียงความในหัวข้อ “ครูใหญ่ในใจเรา” ที่มูลนิธิเอเชียร่วมกับเหล่าพันธมิตรได้จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมการรู้รักษ์ภาษาไทย และรับฟังพร้อมนำข้อคิดเห็นและเสียงสะท้อนของนักเรียนมาเผยแพร่ และสื่อสารให้ผู้บริหารสถานศึกษา ให้ได้รับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริง โดยนักเรียนชั้น ม.1-ม.6 จากทั่วประเทศสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้-31 ต.ค.65 ซึ่งเมื่อถามถึงประโยชน์ของการเขียนเรียงความ และเรียงความที่ดีจะต้องมีลักษณะอย่างไร เรามีคำตอบจากสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย มาให้รับทราบกัน รศ. ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ เลขาธิการสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความรู้เรื่องการเขียนเรียงความเป็นความรู้ที่สำคัญประการหนึ่งของ “ความรู้-ความฉลาดด้านภาษา” ซึ่งเป็นความรู้-ปัญญาด้านหนึ่งในความรู้ที่หลากหลาย หรือพหุปัญญา ที่วงการศึกษาในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศกำลังสนับสนุนให้เกิดมีขึ้นในนักเรียนนักศึกษาของเรา เพราะมีความคิดว่าความรู้ที่หลากหลายจะทำให้นักเรียนคิดได้หลายรูปแบบ มีประโยชน์ในการเข้าสังคมและทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ได้ การเขียนเรียงความต้องการความรู้หลายเรื่อง ทั้งความเข้าใจเนื้อหารวบยอดที่จะเขียน ความสามารถในการรวบรวมประเด็นที่จะนำเสนออย่างมีเหตุมีผล และมีศิลปะในการเลือกใช้สำนวนภาษาที่จะโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อตามได้ โดยเรียงความที่ดีนั้น จะต้องสื่อความได้ตรงกับเรื่องที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ หรือมีใจความที่ชัดเจน และยิ่งถ้ามีการใช้ภาษาที่ดีก็จะช่วยโน้มน้าวให้คนเห็นคล้อยตามความคิดของเรา ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารได้มากที่สุด”